วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2552

มะเร็งเต้านม โรคร้ายอันดับ 1 ของผู้หญิงชาวกรุง



ผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมเท่าเทียมกัน วงการแพทย์ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่ามะเร็งเต้านมเกิดจากสาเหตุใด จึงยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผลเด็ดขาด วิธีที่ดีที่สุดที่ทำได้ขณะนี้คือ ต้องค้นหามะเร็งเต้านมให้พบโดยเร็วที่สุด ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกก่อนที่มะเร็งจะลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ และทำให้เสียชีวิต
ปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงบางคนมีความเสี่ยงมากกว่าคนอื่นๆ คือเรื่องของกรรมพันธุ์ และวิถีในการดำเนินชีวิต ผู้หญิงควรหมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงของขนาด และรูปร่างของเต้านม อาการบวมที่รักแร้ เพราะต่อมน้ำเหลืองโต ผิวหนังที่เปลี่ยนแปลง เช่น มีรอยบุ๋ม ย่น หดตัว หนาผิดปกติ หรือ บางส่วนเป็นสะเก็ด หัวนมมีการหดตัว คัน หรือแดงผิดปกติ มีเลือดหรือน้ำออกจากหัวนม (ร้อยละ ๒๐ ของการมีเลือดออกเป็นมะเร็ง)
จากสถิติพบว่าผู้ป่วยมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่ (ร้อยละ ๙๐) มีก้อนที่เต้านม แต่อย่าตกใจไป เพราะก้อนในเต้านมที่พบ ใน ๑๐๐ รายมีเพียง ๑๕-๒๐ ราย เท่านั้นที่จะเป็นมะเร็งเต้านม

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ มะเร็งเต้านม
๑. สาเหตุของการเป็นมะเร็งเต้านม ไม่เกี่ยวกับการถูกกระแทก การถูก จับหรือลูบคลำ และมะเร็งเต้านมไม่ใช่เป็นโรคติดต่อ
๒. ถ้าประวัติครอบครัวมีแม่เป็นมะเร็งเต้านม ลูกสาวก็จะมีความเสี่ยงเพิ่ม ยิ่งถ้าทั้งแม่ พี่สาว หรือน้องสาวเป็นมะเร็งเต้านมพร้อมกัน จะยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้น
๓. ผู้หญิงที่ไม่เคยมีลูก จะมีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิงที่เคยมีลูกและ ผู้หญิงที่มีลูกหลังอายุ ๓๐ ปี จะมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมเพิ่มมากกว่าผู้หญิงที่ไม่มีลูก
๔. ผู้หญิงที่มีประจำเดือนครั้งแรกตั้งแต่อายุน้อย เช่น อายุ ๑๑ ปี ก็เริ่มมีประจำเดือนแล้วและอีกกลุ่มหนึ่งผู้หญิงที่อยู่ในวัยทอง ระหว่างอายุ ๕๐-๕๕ ปี มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม
๕. ผู้หญิงที่มีประวัติการเป็นซีสต์ (cyst) หรือถุงน้ำ ไม่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม แต่ควรจะตรวจเป็นประจำตามคำแนะนำของแพทย์
๖. การกินอาหารที่มีไขมันสูงอาจส่งผลและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม ผู้หญิงควรกินอาหารที่มีประโยชน์ในสัดส่วนที่เหมาะสม เน้นอาหารที่มีกากใยมากและอาหารไขมันต่ำ รวมถึงออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
๗. ฮอร์โมนไม่ได้ทำให้เกิดมะเร็งเต้านม แต่ถ้ามีการใช้ฮอร์โมนในขณะที่มีมะเร็งเต้านมจะทำให้มะเร็งเต้านมเติบโตเร็วขึ้น

สรุปคือ ผู้หญิงทุกคนล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมเท่าๆ กัน เพราะผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมร้อยละ ๗๕ ไม่ได้มีความเสี่ยงที่กล่าวข้างต้น


ดูแลเต้านมตัวเอง(Breast care) ก่อนเสี่ยงมะเร็งเต้านม



การตรวจเต้านมด้วยตนเอง (Breast self-examination)
1. ยืนหน้ากระจก
- ปล่อยแขนข้างลําตัวตามสบายเปรียบเทียบเต้านมทั้งสองข้างว่ามีการบิดเบี้ยวของหัวนมหรือมีสิ่งผิดปกติหรือไม่
- ประสานมือทั้งสองข้างเหนือศีรษะแล้วกลับมาอยู่ในท่าเท้าสะเอวพร้อมสํารวจหาสิ่งผิดปกติ
- ให้โค้งตัวมาข้างหน้าโดยใช้มือทั้งสองข้างวางบนเข่า หรือเก้าอี้ในท่านี้เต้านมจะห้อยลงไปตรงๆ หากมีสิ่งผิดปกติก็จะเห็นได้ชัดมากขึ้น
2. นอนราบ
- นอนในท่าสบายและสอดหมอนหรือม้วนผ้าใต้ไหลซ้าย
- ยกแขนซ้ายเหนือศีรษะเพื่อให้เต้านมด้านซ้ายแผ่ราบซึ่งจะทําให้คลําพบก้อนเนื้อได้ง่ายขึ้นโดยเฉพาะส่วนบนด้านนอกซึ่งมีเนื้อมากที่สุดและมีการเกิดมะเร็งมากที่สุด
- ให้ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนางคลําทั่วทั้งเต้านมและรักแร้ที่สําคัญคือ ห้ามบีบเนื้อเต้านมเพราะจะทําให้รู้สึกเหมือนเจอก้อนเนื้อซึ่งที่จริงแล้วไม่ใช่
3. ขณะอาบน้ำ
สําหรับผู้หญิงที่มีเต้านมขนาดเล็กให้วางมือข้างเดียวกับเต้านมที่ต้องการตรวจบนศีรษะแล้วใช้มืออีกข้างคลําในทิศทางเดียวกับที่คุณใช้ในท่านอน

สําหรับผู้ที่มีเต้านมขนาดใหญ่ให้ใช้มือข้างนั้นประคอง และตรวจคลําเต้านมจากด้านล่างส่วนมืออีกข้างหนึ่งให้ตรวจคลําจากด้านบน ขณะอาบน้ำให้ถูสบู่ด้วยจะทําให้คลําได้ง่ายขึ้น

การป้องกัน
สาเหตุของการเกิดมะเร็งยังไม่ทราบแน่นอน การป้องกันที่ดีที่สุดคือ ค้นพบให้เร็วที่สุด ดังนั้นจึงควรตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจําเดือนละครั้ง (Breast self-examination), พบแพทย์ (physical examination) และตรวจเอกซเรย์เต้านม

วิธีตรวจหามะเร็งเต้านม ด้วยตนเองการตรวจ แบบนิ้วสัมผัส Triple Touch ตรวจมะเร็งเต้านม ด้วยตัวเอง

ร้อยละ 90 ของเนื้องอกในเต้านมของสตรีถูกพบครั้งแรกด้วยตนเอง การตรวจเต้านม ด้วยตนเอง จึงเป็นเรื่องจำเป็นและควรทำ ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วัยสาว เวลาที่เหมาะแก่การตรวจคือ หลังหมดประจำเดือน 7-10 วัน เพราะเป็นระยะที่เต้านมไม่บวม และ นิ่ม ทำให้ตรวจง่าย หากพบสิ่งผิดปรกติ หรือ สงสัย ให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที

วิธี ตรวจมะเร็งเต้านม ตรวจในท่านอน
ให้นอนราบลง วางหมอนไว้กลางหลัง ทาครีมหรือโลชั่นบนหน้าอกเล็กน้อย เวลาตรวจ ให้นิ้วนางและนิ้วกลางวางชิดให้เสมอกันเป็นพื้นเรียบ อย่าใช้ปลายนิ้ว เพราะจะดันให้ก้อนเนื้อออกห่างกัน ทำให้ตรวจไม่พบ ลูบไปเบาๆ จะช่วยหาก้อนเนื้อที่ยังเล็กมากๆ และ เคลื่อนที่ใต้ชั้นผิวหนัง อย่ากดแรงเกินไป เพราะก้อนเนื้ออาจเคลื่อนที่ไปได้
กดให้แรงขึ้น เพื่อตรวจบริเวณที่อยู่ลึกลงไป และ กดให้ทั่วถึงกระดูกซี่โครง ตรวจบริเวณใกล้กระดูกไหปลาร้า และ ใต้รักแร้ เนื่องจากมะเร็งเต้านม อาจกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง บริเวณใกล้กระดูกไหปลาร้า และ ใต้รักแร้ได้ จึงควรตรวจบริเวณดังกล่าวด้วย บริเวณที่มักตรวจพบเนื้องอก มะเร็งเต้านมมักจะเกิดขึ้นที่บริเวณ ต่างๆดังรูป

วิธี ตรวจมะเร็งเต้านม ส่องดูกระจก
หลังอาบน้ำแล้ว ให้ยืนหน้ากระจกและมองหาความเปลี่ยนแปลงของเต้านมซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ เช่นขนาดของเต้านมทั้งสองข้าง ลักษณะรูปทรง สีผิว หรือรอยบุ๋ม
จากนั้นมองหาความเปลี่ยนแปลงของเต้านมในท่ายกแขนทั้งสองข้างเหนือศีรษะ และท่าประสานมือไว้ใต้คาง และผ่อนกล้ามเนื้อหน้าอก
เมื่อเสร็จแล้วให้ยกไหล่ขึ้น โน้มตัวไปข้างหน้า เพื่อดูว่าเต้านมทั้งสองของ ห้อยลงในลักษณะเดียวกันหรือไม่
สุดท้าย ค่อยๆบีบหัวนมดูว่ามีน้ำหรือเลือดไหลออกมาหรือไม่ โดยตรวจทั้งสองข้าง ดังรูป ถ้าพบว่ามีน้ำหรือเลือดผิดปกติ ให้รีบปรึกษาแพทย์

วิธี ตรวจมะเร็งเต้านม ตรวจขณะอาบน้ำ
โดยถูสบู่เป็นฟองน้อยให้ทั่วหน้าอก เพื่อให้มือลื่น สามารถเลื่อนไปบนผิวได้ง่ายขึ้น ยกแขนซ้ายขึ้นเหนือศีรษะ และเริ่ม ตรวจเต้านม ข้างซ้าย ด้วยมือขวา
ด้วยวิธีการเดียวกัน
ผ่าตัด มะเร็งเต้านม แบบใหม่



ลดอาการแขนบวมหลังผ่าได้ดีขึ้น
ปัจจุบันนี้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมอยู่ที่ 7 คนต่อวัน และจะมีผู้ป่วยหน้าใหม่เพิ่มขึ้นปีละ 10,000 คน มะเร็งเต้านมจึงถือว่าใกล้ตัวผู้หญิงมาก และการจะตรวจสอบว่าเป็นมะเร็งที่เต้านมหรือไม่ จะต้องเลาะต่อมน้ำเหลืองออกมา ซึ่ง การเลาะต่อมน้ำเหลืองนี่เองที่จำให้เกิดผลข้างเคียงคือ อาการแขนบวม รู้สึกชาใต้ท้องแขน การต้องค้างสายระบายน้ำเหลืองนานๆ และภาวะหัวไหล่ติด และที่แย่คือเราจะพบคนที่เป็นมะเร็ง 20-30% เท่านั้น นั่นเท่ากับว่าอีก 70-80% ที่ไม่ได้เป็นมะเร็งจึงเจ็บตัวฟรีกับการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองแบบเดิม

ดังนั้นทางการแพทย์จึงพยายามหาวิธีการแบบใหม่ นั่นก็คือการเลาะต่อมน้ำเหลืองแบบเซนตินอล ซึ่งเพียงมี 2 ขั้นตอน

+ ขั้นตอนที่ 1 ศัลยแพทย์จะฉีดสีพิเศษหรือสารกัมมันตรังสีเข้าไปที่บริเวณเต้านม เพื่อศึกษาทางเดินน้ำเหลืองว่ามะเร็งจะเคลื่อนที่ไปตามทางเดินน้ำเหลืองทางไหน ทิ้งไว้แค่ประมาณ 5-10 นาที

+ ขั้นตอนที่ 2 แพทย์จะผ่าตัดด้วยแผลขนาดเล็กที่รักแร้ เพื่อตัดต่อมน้ำเหลืองที่ติดสีหรือตรวจพบกัมมันตภาพรังสี หรือที่เรียกว่าต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลนี่แหละแค่ 1-2 เม็ด แล้วก็ส่งให้พยาธิแพทย์ตรวจทางห้องปฏิบัติการ ว่ามีการกระจายของเซลล์มะเร็งในต่อมน้ำเหลืองที่ตัดออกมาหรือไม่ ซึ่งจะทราบผลภายในเวลา 30-40 นาที

ถ้าพยาธิแพทย์ตรวจไม่พบเซลล์มะเร็ง ศัลยแพทย์ที่ผ่าตัดก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องไปเลาะต่อมน้ำเหลืองที่เหลืออยู่ในระดับลึกลงไปออก ซึ่งข้อดีของการผ่าตัดลักษณะนี้ จะสามารถลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้แบบเดิม เช่น อาการแขนบวม รู้สึกชาใต้ท้องแขน การต้องค้างสายระบายน้ำเหลืองนานๆ และภาวะหัวไหล่ติดได้ อีกทั้งยังลดค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดและพักฟื้นของผู้ป่วยด้วย

ปัจจุบันนี้ทางสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการผ่าตัดมะเร็งเต้านมแบบใหม่นี้ กับแพทย์ในโรงพยาบาลศูนย์ในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศทั้ง 8 จังหวัด คือเชียงราย พิษณุโลก นครสวรรค์ อุดรธานี อุบลราชธานี นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี และสงขลา เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม สามารถได้รับการรักษาอย่างมีมาตรฐานที่ดีขึ้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น